วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปวดหรือไม่ หน้าตาคือคำตอบ

1.ชื่อผลงาน
            ปวดหรือไม่ หน้าตาคือคำตอบ
2.คำสำคัญ   
           เครื่องมือประเมินความปวด สำหรับผู้ป่วยที่มารับบริการในแผนกกายภาพบำบัด
3.สรุปผลงานโดยย่อ  
             
จากการมารับบริการทางกายภาพบำบัดของผู้ป่วยที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มารับบริการทางกายภาพบำบัดมีปัญหาเรื่องระบบกระดูกและกล้ามเนื้อคิดเป็นร้อยละ 85 ของจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการทั้งหมด และสาเหตุที่นำให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลคือ ความเจ็บปวด  การให้บริการทางกายภาพบำบัดมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดที่ดีขึ้น  สามารถกลับไปทำกิจกรรมต่างๆ และใช้ชีวิตได้ตามปกติ  แต่ในระหว่างการรักษาแต่ละครั้งยังไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าอาการของผู้ป่วยดีเพิ่มมากขึ้นหรือลดลง อย่างไร ไม่มีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมที่สามารถสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้ป่วยและนักกายภาพได้  ไม่มีการบันทึกเป็นตัวเลขที่ชัดเจน จนทำให้ไม่สามารถประเมินได้ว่าการรักษาทางกายภาพบำบัดมีประสิทธิภาพหรือไม่  

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



              ดังนั้นเพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แผนกกายภาพบำบัดจึงได้มีการคิดวิเคราะห์ หาแนวทางแก้ไขและพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินความปวดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถบอกเล่าอาการปวดได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้ป่วยและนักกายภาพบำบัด ตลอดจนเพื่อประเมินประสิทธิภาพทางการรักษาของนักกายภาพบำบัดได้ ขั้นตอนการดำเนินงานได้แก่      
                              
1. วิเคราะห์ปัญหาที่พบจากการมารับบริการทางกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยที่มารับบริการ
2. ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและนำปัญหามาหาแนวทางแก้ไข และ  ออกแบบเครื่องมือประเมินความปวดสำหรับผู้ป่วยที่มารับ บริการในแผนกกายภาพบำบัด
 3. นำเครื่องมือที่ออกแบบได้ไปใช้จริง เริ่มใช้ตั้งแต่ กันยายน- ธันวาคม 2556 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 4 เดือน นำไปใช้กับผู้ป่วยรายใหม่ที่มารับบริการทางกายภาพบำบัด ณ โรงพยาบาลภูกระดึง ทั้งหมด โดย เก็บข้อมูลและบันทึกผลครั้งแรกที่มารับบริการและทุกๆครั้งที่3
4. นำข้อมูลที่ได้มาคิดวิเคราะห์และประเมินผล
           ซึ่งจากการมีตัวชี้วัดความปวดที่ชัดเจนนี้ทำให้การประเมินความปวดของผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังการมารับบริการเป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาทางกายภาพบำบัดเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย


4.ชื่อและที่อยู่ขององค์กร
               แผนกกายภาพบำบัด  โรงพยาบาลภูกระดึง  เลขที่ 149  หมู่ ตำบลภูกระดึง  อำเภอภูกระดึง  จังหวัดเลย รหัสไปรษณีย์ 42180
5.สมาชิกทีม
               1.นายเอกลักษณ์      เป๋าสูงเนิน    ตำแหน่ง       นักกายภาพบำบัดปฏิบัติการ
               
2.นางสาวศิริขวัญ      นามศิริ       ตำแหน่ง        นักกายภาพบำบัด
               3.นางสาวกนกอร       อุ่นใจ       ตำแหน่ง        นักกายภาพบำบัด
6.เป้าหมาย
               เพื่อประเมินความเจ็บปวดของผู้ป่วยอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างนักกายภาพบำบัดและผู้ป่วย เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาทางกายภาพบำบัด
7.ปัญหาและสาเหตุโดยย่อ
               เนื่องจากผู้ป่วยที่มารับบริการทางกายภาพบำบัดส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องระบบกระดูกและกล้ามเนื้อคิดเป็นร้อยละ
85 ของผู้มารับบริการทางกายภาพบำบัดทั้งหมด การให้บริการทางกายภาพบำบัดมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดทุเลาลง ที่ผ่านมาการประเมินความเจ็บปวดมาจากการสอบถามอาการในลักษณะของการบอกเล่าซึ่งเป็นนามธรรม  ส่งผลให้เกิดปัญหาดังต่อไปนี้   
                          1.ไม่มีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมสร้างความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างนักกายภาพบำบัดและผู้ป่วย
                         
2.ไม่มีการบันทึกเป็นตัวเลข
                         
3.ไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนว่าอาการดีขึ้นมากน้อยเท่าไร
                        
 4.ไม่สามารถวัดผลได้อย่างชัดเจนว่าการรักษามีประสิทธิภาพมากน้อยเท่าไร
              ดังนั้นแผนกกายภาพบำบัดได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นและคิดออกแบบเครื่องมือประเมินความเจ็บปวดของผู้ป่วยขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
8.การเปลี่ยนแปลง
               ออกแบบเครื่องมือประเมินความปวดสำหรับผู้ป่วยที่มารับบริการในแผนกกายภาพภาพบำบัดและนำมาใช้ในการตรวจประเมิน การรักษา  การวางแผนการรักษา  การติดตามและประเมินผลการรักษา
ผู้ป่วยรายใหม่/แรกรับ  1.ดูแฟ้มประวัติของผู้ป่วย อาการสำคัญที่มาโรงพยาบาล การวินิจฉัยของแพทย์ และสาเหตุที่แพทย์ส่งมาปรึกษานักกายภาพบำบัด
                                    
2.ซักประวัติผู้ป่วย ค้นหาว่าอะไรที่ผู้ป่วยคิดว่าเป็นปัญหาและนักกายภาพบำบัดค้นหาสาเหตุของปัญหาว่าน่าจะเกิดขึ้นกับโครงสร้างใดของร่างกายซึ่งการซักประวัติประกอบด้วย
                                    
2.1 Kind of disorder  เป็นคำถามแรกที่นักกายภาพบำบัดจะใช้ถามผู้ป่วย คำถามในลักษณะนี้คือ มีอาการอะไรมาค่ะ/ครับ (what is your main problem at this stage?) หลังจากนั้นผู้ป่วยจะบอกเล่าอาการที่ผิดปกติให้นักกายภาพบำบัดทราบ หาก kind of disorder ของผู้ป่วยที่นำมาคืออาการปวด นักกายภาพบำบัดทำการประเมินระดับความรุนแรงของอาการปวดโดยใช้เครื่องมือประเมินที่จัดทำขึ้น เก็บข้อมูลและบันทึกเป็นตัวเลขครั้งแรก
                                     2.2 Body chart  คือ ภาพโครงร่างคนที่มีทั้งหน้าและหลังใช้บันทึกอาการผิดปกติของผู้ป่วยทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจน
                                   
2.3 Behaviour of symptoms  คือ พฤติกรรมของอาการผิดปกติ เช่น กิจกรรมอะไรที่ก่อให้เกิดอาการปวดเพิ่มมากขึ้น/ลดลง มีปวดเวลาใดบ้าง กลางคืน เช้า หรือตลอดเวลา
                                    2.4 History  คือการซักถามเกี่ยวกับประวัติ ทั้งประวัติปัจจุบัน เช่น มีอาการปวดตั้งแต่เมื่อไหร่และประวัติในอดีตเช่น เคยมีอาการปวดมาก่อนหรือไม่ เคยได้รับอุบัติเหตุหรือไม่
                                    2.5 Special question  คือ การซักถามเพื่อให้ได้ข้อมูลบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ เพื่อประกอบในการพิจารณาในการรักษา เช่น ได้รับการถ่าย x-raysหรือไม่  มีน้ำหนักเปลี่ยนแปลงหรือไม่ในช่วงนี้  ทานยาอะไรอยู่เป็นประจำ เป็นต้น
                              
3.ตรวจประเมินร่างกายทางกายภาพบำบัดตามขั้นตอน ตั้งแต่การสังเกต (Observation and inspection) ไปจนถึงการทดสอบพิเศษ(special tests)ต่างๆ
                                4.วางแผนการรักษา
                               
5.ให้การรักษาทางกายภาพบำบัดตามที่วางแผนไว้ตลอดจนคำแนะนำต่างๆที่เป็นประโยชน์
                              
6.ออกบัตรนัด ระบุ วัน เวลา ในการมารับการรักษาต่อเนื่องในครั้งต่อไป
                               7.ผู้ป่วยกลับบ้าน
ผู้ป่วยรายเก่า/ตามนัด  1.วัดความดันโลหิต สอบถามอาการของวันนี้ ลักษณะอาการปวดที่เปลี่ยนแปลงไป ดีขึ้น/ลดลง โดยนำเครื่องมือประเมินที่ทำการออกแบบขึ้นมาใช้ในการประเมินผลการรักษา เก็บข้อมูลและบันทึกเป็นตัวเลขเมื่อทำการรักษาครบทุกๆ 3 ครั้ง
                                     2.ทำการตรวจประเมินร่างกายทางกายภาพบำบัดซ้ำ (re-assessment)
                                      3.วางแผนการรักษาใหม่/ให้แผนการรักษาตามเดิม
                                    
4.ให้การรักษาทางกายภาพบำบัดตามขั้นตอน
                                      5.ทบทวนวัน เวลาที่นัด หรือเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม เช่น หากอาการปวดดีขึ้นหรือหายเป็นปกติแล้วมีการพิจารณาการมารับการรักษาให้ห่างออกในครั้งต่อไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนักกายภาพบำบัดหรือลักษณะอาการของผู้ป่วยในแต่ละราย
                                    
6.ผู้ป่วยกลับบ้าน
9.การวัดผลและผลของการเปลี่ยนแปลง
การวัดผล
:
               
1.นำเครื่องมือประเมินความปวดสำหรับผู้ป่วยที่มารับบริการในแผนกกายภาพบำบัดมาใช้ เริ่มตั้งแต่ เดือน กันยายน 2556 –ธันวาคม 2556 เป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยเริ่มใช้ในผู้ป่วยที่เป็นรายใหม่ทั้งหมด
                2.ประเมินอาการเจ็บปวดของครั้งแรกของการรักษา และ ครั้งที่ 3 ของการรักษา
                3.เก็บรวบรวมข้อมูล
                
4.นำข้อมูลที่ได้มาคิดวิเคราะห์ โดยสามารถสามารถบอกเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ว่าอาการปวดทุเลาลงจากเดิมกี่เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยอาการดีขึ้นร้อยละเท่าไรของผู้มารับบริการทั้งหมด และการรักษาทางกายภาพบำบัดมีประสิทธิภาพหรือไม่
ผลของการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
:
                1.ผู้ป่วยบอกอาการปวดได้อย่างเป็นรูปธรรม
               
2.เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้ป่วยและนักกายภาพบำบัด
               
3.ประเมินผลของการรักษาทางกายภาพบำบัดว่ามีประสิทธิภาพได้
10.บทเรียนที่คาดว่าจะได้รับ
                   จากการนำเครื่องมือประเมินความปวดสำหรับผู้ป่วยในแผนกกายภาพบำบัดไปใช้  จะสามารถสร้างความเข้าใจและการสื่อสารที่ตรงกันระหว่างผู้ป่วยและนักกายภาพบำบัดได้ ใช้งานง่ายและง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้ป่วยที่แตกต่างกันในแต่ละวัย สามารถประเมินได้ว่าอาการเจ็บปวดของผู้ป่วยดีขึ้นหรือไม่ การรักษาทางกายภาพบำบัดมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด และพัฒนาต่อไปให้ดียิ่งขึ้นโดยการนำไปใช้ร่วมกับบัตรนัดที่ให้กับผู้ป่วย เพื่อจะได้ง่ายต่อการประเมินมากขึ้น และนอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานอื่นๆได้ เช่น  กลุ่มงานแพทย์แผนไทย หรือ กลุ่มงานพยาบาล เป็นต้น
11.การติดต่อกับทีมงาน
                  แผนกายภาพบำบัด โรงพยาบาลภูกระดึง หมายเลขโทรศัพท์ :(042) 871016-7 ต่อ126 / 080-4638191








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น